ผมเคยได้ยินหลักการเลือกอาชีพที่ใช่มาว่า มีสิ่งสำคัญอยู่ 3 อย่าง
1.ความชอบ
2.ความถนัด
3.ความต้องการของตลาด
ถ้างานที่เราทำมีได้ทั้งสามอย่างนี้ ทุกอย่างจะเพอร์เฟคมาก เรียกว่าเป็นอุดมคติเลย
ความสำคัญของ 3 อย่างนี้คืออะไร
ความชอบ ทำให้เรามีความสุขในการทำงาน ทำงานนั้นไปได้ตลอด
ถ้าเราได้ทำในสิ่งที่เราชอบ เราต้องการเรียนรู้กับเรื่องนี้อยู่ตลอด เราสนุกที่ได้ทำ จะทำให้เรามีความสุขกับงาน
ความถนัด ทำให้เราเป็นเบอร์ต้นของวงการ ถ้ามีงานมาคุณจะเป็นตัวเลือกแรกๆ
ความถนัดคือ สิ่งที่เราทำได้ดีกว่าคนอื่น หรือสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วไป หรือเป็นเลิศในสิ่งนั้นๆ จะทำให้งานที่เราทำไม่ค่อยสะดุด งานยากเป็นงานง่าย ลูกค้าพอใจในสิ่งที่เราทำ พร้อมจะแนะนำเราให้กับคนอื่นต่อ ครั้งต่อไปก็จะใช้งานเราซ้ำอีก และเรียกเงินได้มากขึ้น
ความต้องการของตลาด ทำให้คนยอมจ่ายเงินเพื่องานของเรา
สิ่งนี้เป็นการประเมินมูลค่าของงานเรา ว่าจะมีคนให้ราคาเท่าไหร่ ถ้าในตลาดขาดแคลนงาน หรือบุคลากรแบบเรามากเท่าไหร่ เงินเดือนหรือรายได้เราก็จะดีขึ้นเท่านั้น
ลองคิดดูว่า แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เราชอบและทำได้ดี แต่ถ้าไม่มีคนที่ต้องการจะจ่ายเงินเพื่อมัน ต่อให้ทำงานนั้นดีแค่ไหนก็จะหาเงินได้ยาก
ในหลัก 3 อย่างนี้ ผมว่าความต้องการของตลาดสำคัญที่สุด
จากประสบการณ์ของผมในการทำงานล่าม
เรียกได้ว่า โชคดีที่ได้ ความต้องการของตลาด มาช่วยทำให้เติบโตครับ
เพราะถ้าถามว่าผมชอบงานล่ามมั้ย ก็ไม่ได้ชอบขนาดนั้น ออกไปทางไม่ชอบซะมากกว่า
ถนัดเชี่ยวชาญแค่ไหน ก็คิดว่าไม่เก่งเลย แต่พยายามฝึกฝนอยู่เรื่อยๆ น่าจะอยู่ระดับกลางๆของตลาด
แต่รายได้ถือว่าค่อนข้างดีใช้ได้เลยครับ แม้ว่าจะไม่ได้ร่ำรวย แต่หลักแสนก็ได้อยู่ครับ
ในตลาดล่ามเป็นอย่างไร
ผมลองสอบถามกับเพื่อนๆล่ามคนอื่นก็พบว่า ไม่ว่าจะเก่งมาก เก่งน้อย ส่วนใหญ่เรทรายได้ก็ไม่ต่างกันมากครับ
แน่นอนว่าคนที่เก่งมากๆ ก็จะได้งานที่เยอะ และรายได้ที่ดีกว่า
แต่คนที่ไม่ได้เก่งมาก ก็ได้รายได้ที่ถือว่าค่อนข้างเพียงพอต่อการใช้ชีวิตเลยในเมืองไทย
ผมคิดว่า ถ้าเราอยู่ในตลาดที่ถูกต้อง เราไม่ได้เก่งมาก ฝีมือประมาณแค่ค่าเฉลี่ย ยังไงเงินก็มา
จะออกแรงน้อยกว่าการที่ไปอยู่ในตลาดที่ยาก คัดกรองแต่เฉพาะยอดฝีมือ 100 อันดับแรกเท่านั้นถึงจะได้รายได้ที่มาก
ถ้าจะให้ผมพูด ก็อาจจะเรียกได้ว่า
งานล่ามเป็นหนึ่งในอาชีพที่ตลาดต้องการ หรือคือ ดีมานด์ มากกว่าซัพพลาย
แม้ว่าจะเรียกได้ว่า ตลาดทุกวันนี้ ค่าแรงล่ามจะตก มีล่ามเยอะแยะในตลาด
แต่ถึงอย่างนั้น รายได้ก็ยังถือว่าดีกว่ามาตรฐานอยู่พอสมควรครับ
เพราะแม้ว่าคนที่ไม่ได้เก่งอะไรมาก ก็ยังสามารถหารายได้ที่ค่อนข้างสูงได้เมื่อเทียบความสามารถในระดับนี้ของอาชีพอื่น
อาชีพที่เงินดีโคตรๆ
นอกจากงานล่ามยังมีอาชีพอื่นที่อยู่ในความต้องการของตลาด และยังให้ราคาที่สูงมากอยู่อีกเยอะ
1 ในนั้นที่ผมรู้คือ นักเขียนโปรแกรม
ผมเคยเห็นค่าจ้างโปรแกรมเมอร์สายนึง อยู่ที่วันละ 25,000 บาท อันนี้เป็นเรทค่าจ้างระหว่างบริษัทกับบริษัทนะครับ
บริษัทผมจ้างโปรแกรมเมอร์คนนี้มาอยู่เกือบครึ่งปีแล้วครับ
หรือก็คือจ่ายเงินเดือนละ 7 แสนห้ามาเกือบ 6 เดือนแล้ว
ถ้าจ้างแบบฟรีแลนซ์อาจจะถูกกว่านี้
อีกอาชีพที่ผมเห็น คือ วิศวกรติดตั้งโรบอท
อันนี้งานจ้างระหว่างบริษัทกับบริษัท คิดราคาที่เดือนละ 5 ล้านบาท
เชื่อหรือไม่เชื่อ ลองไปเช็คกันดูนะครับ
ส่วนข้อมูลนี้ผมได้มาจากการแปลประชุมกับคนญี่ปุ่น และได้เห็นมาจากเอกสารครับ
ยกตัวอย่างในแง่ของการขายของ
ผมก็มีขายของอยู่ในหมวดหมู่สินค้านึง เป็นสินค้ากลุ่มเฉพาะทาง ไม่ใช่แมส ขายมานานมากหลายปี ยอดขายเพิ่มขึ้นมาประมาณนึง สำหรับผมถือว่าดีใช้ได้
เพื่อนผมคนนึงเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ไม่มีความรู้อะไรเลย มาลองทำมั่วๆ เป็นอีกอุตสาหกรรมนึงนะครับ
สินค้าคนละหมวดหมู่กับผม แต่เป็นสินค้าที่เป็นแมสมาเกต การแข่งขันสูงมาก
ทำไปทำมายอดขายเดือนที่ 2 เค้าก็เเยอะกว่ายอดขายหลายปีของผมเลยทีเดียว
ไม่ใช่แค่ยอดขายนะครับ กำไรก็โตกว่า โดยใช้เวลาไม่นาน
เทคนิค ความรู้ หรือวิธีการเรียกได้ว่าบ้านๆมากครับ ผมคิดว่าไม่ได้เก่งกว่าผมเลย
แต่กำไร การเติบโต พุ่งทะลุผมหลายเท่ามาก
ร้านเค้าเองก็ไม่ได้เป็นที่ 1 ในตลาดของเค้านะครับ
มีคู่แข่งจำนวนมาก และมีคนขายถูกกว่าอีกเยอะ
ข้อเท็จจริงนี้ ผมสรุปได้ว่า ความต้องการของตลาดเป็นสิ่งสำคัญอย่างนึงในการกำหนดรายได้ของเรา
ถ้าเราอยู่ในตลาดที่ถูก แม้ว่ามีการแข่งขันสูง แต่ความต้องการก็ยังเยอะอยู่ดี ยังไงยอดก็มา
ยอดจะมาโดยที่เราใช้แรงไม่มากในการเพิ่มรายได้
แต่ในอุตสาหกรรมที่ไม่ดี แข่งกันเยอะ ความต้องการน้อย ลูกค้าเป็นใหญ่ ลูกค้าเลือกสินค้าได้ว่าจะเอาถูกขนาดไหน
จะค่อนข้างเหนื่อย รายได้ก็จะน้อยตาม
วิธีการอัพเงินเดือนของผม
สำหรับตัวผมเองนะครับ ผมใช้วิธีดังนี้ครับ
1.เข้าใจว่าตลาดจ้างกันอยู่ที่ราคาเท่าไหร่
ที่จริงแล้วในสายงานอาชีพล่ามภาษาญี่ปุ่น แม้ว่าจะไม่ได้ใช้เทคนิคอะไรเลย
ขอแค่ย้ายงานเงินก็เพิ่มขึ้นแล้ว เมื่อเราลองขอเงินให้ได้ตามค่าเฉลี่ยของตลาด
สิ่งที่ผมมักทำคือ ผมจะสะสมข้อมูลจากคนรู้จัก ที่อยู่ในแวดวงเดียวกัน
คือเป็นล่ามเหมือนกัน หรือเป็นคนทำงานบริษัทญี่ปุ่น
พอเรารู้ข้อมูลเงินเดือนของเค้าแล้ว นำมาเปรียบเทียบกับตัวเอง และตั้งราคาเงินเดือนของเราให้เหมาะสม
พอเราได้ข้อมูลใหม่ๆมาว่าเพื่อนเราได้เงินที่ทำงานใหม่ขึ้นเท่าไหร่ และตอนเราย้ายงานเราก็ลองเรียกราคานั้นๆดูบ้างก็จะมีโอกาสได้เงินขึ้นเท่านั้น
มีคนเคยบอกว่า เราจะได้รายได้อยู่ในช่วงค่าเฉลี่ยของสังคมที่เราอยู่
ผมว่าเรื่องนี้น่าจะจริงระดับนึงเลยทีเดียว
2.อย่าประเมินค่าตัวเองต่ำไป
แม้ว่าที่จริงแล้วตัวคุณเองจะคิดว่าคุณไม่เก่ง ไม่ควรจะได้รับเงินเยอะขนาดนั้น
แต่ถ้าตลาดเค้าประเมินมาเท่านั้น เราก็อย่าปฏิเสธเงินที่เค้าให้เรามาเลย
ผมคิดว่าเรายอมรับงานที่ยากเกินกว่าฝีมือเรามาก่อน
แล้วค่อยมาพยายามทำมันให้ได้ พยายามพัฒนาฝีมือให้เราเหมาะกับตำแหน่งนั้นๆ น่าจะดีกว่า การที่เรารับงานง่าย เงินเดือนน้อย และก็มาบ่นว่าเงินเดือนไม่พอใช้และก็ต้องมาเปลี่ยนงานอีกทีในภายหลัง
ต่อให้เป็นงานที่ยาก ถ้าสุดท้ายแล้วเราทำไม่ไ่ด้ ก็ออกเหมือนกับตอนทำงานเงินน้อยอยู่ดี จะยอมรับเงินน้อยไปทำไม
บางคนอาจจะบอกว่า ยอมรับเงินน้อย เพื่อให้ได้งานสบาย อันนี้ก็จริงครับ
พอทำงานง่ายเงินสบาย เราจะทำงานนั้นได้นาน
แต่งานที่เงินเยอะและสบายก็มีเยอะนะครับ คุณอาจจะได้งานสบายก็ได้ แม้ว่าได้เงินเยอะ
อีกอย่างถ้าเราเก่งขึ้นจนชำนาญแล้ว งานยากนั้นก็จะไม่ยากอีกต่อไป เท่ากับเราทำงานยากให้เป็นงานง่ายและได้เงินเยอะไปด้วยเลยไงครับ
3.หาต้นแบบ
ถ้าคุณรู้จักใครสักคนที่เค้าเงินเดือนเยอะๆ หรือรายได้เยอะ
คุณลองมองเค้าดูครับ
สมมติว่าเป็นหัวหน้าคุณ
คุณลองคิดดูว่าคุณต้องมีสกิลอะไรบ้างที่จะทำงานได้แบบเค้า
แล้วให้เริ่มฝึกฝนพัฒนาตัวเองเลยครับ
ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณทำงานของเค้าได้ทุกอย่าง
มันก็น่าจะเมคเซ้นส์ใช่มั้ยครับ ว่าคุณควรจะเงินเดือนไม่เท่าเค้าก็ต้องระดับเดียวใกล้เคียงกับเค้า
แม้ว่าเมื่อคุณถึงจุดที่เก่งเท่าเค้าแล้ว แต่โอกาสการปรับตำแหน่ง หรือปรับเงินเดือนยังมาไม่ถึง
แต่อย่างน้อยก็เป็นการการันตีได้อย่างนึง ว่าคุณเหมาะสมสำหรับงานในระดับหัวหน้าคุณ
เมื่อคุณไปเริ่มงานที่ใหม่ คุณก็มีโอกาสที่จะได้ทำงานในตำแหน่งเดียวกับหัวหน้าของคุณ
คุณจะมีความมั่นใจในการขึ้นไปอีกในขั้นถัดไป
4.คิดอยู่เสมอว่าโอกาสไม่ได้มาอยู่บ่อยๆ
บางครั้งคุณต้องท้าทายตัวเองกับโอกาส
ส่วนใหญ่โอกาสมักมาในเวลาที่เราไม่พร้อม
เหมือนชะง่อนหินผา ที่ไม่ได้ปีนขึันไปง่ายๆ ต้องกระโดดปีนป่ายตะกายขึ้นไป
แน่นอนว่าการทำตัวให้พร้อมเสมอกับโอกาสที่มาถึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก
แต่ไม่รู้ทำไม ทุกครั้งที่โอกาสมา มักมาในเวลาที่ไม่พร้อม
คุณกล้าคว้ามันมั้ยล่ะ ในขณะที่คุณไม่พร้อม การตัดสินใจต่อสิ่งนี้ทำให้ชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกัน
โอกาสที่ง่ายมา เราพร้อมที่จะทำได้ไม่ยาก แบบหวานหมูมันก็ดี
แต่โอกาสที่ยาก มันก็ท้าทาย และสร้างการเติบโตให้เราเสมอ
แม้ครั้งนี้เราจะทำไม่สำเร็จ แต่ประสบการณ์ในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมให้เราก้าวหน้าในครั้งถัดไป
จากประสบการณ์ของผม ทุกครั้งที่เจองานยาก งานโหด ที่แค่คิดจะไปทำก็ไม่อยากทำแล้ว
พอผ่านมันไปได้ ไม่ว่าจะผ่านแบบรุ่งริ่งแค่ไหน จิตใจคุณจะแกร่งขึ้น คุณจะรับมือกับงานที่โหดๆได้ดีขึ้น
คุณจะระลึกถึงงานโหดนั้นอยู่เสมอ พอคุณมาทำงานธรรมดาคุณจะรู้สึกเหมือนเป็นการขัดเกลาตัวเองเพื่อให้พร้อมทำงานโหดๆแบบนั้นอีก
ทำให้อยากทำงานธรรมดาให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ตัวเองพร้อมรับมือกับวันที่ต้องเจองานระดับบอสแบบวันนั้น
5.ทำตัวเองให้อยู่ในจุดที่โอกาสจะเข้ามา
ข้อนี้ถ้าพูดง่ายๆก็คือคอนเน็คชั่นหรือกลุ่มคนที่คุณคบหา
ที่จริงแล้วผมเป็นคนนึงที่ไม่ชอบคบหาคนเพื่อหวังหาผลประโยชน์
แต่ในชีวิตคนเรามักจะมีเพื่อนอยู่หลายกลุ่ม
บางกลุ่มเป็นเพื่อนที่คบกันอย่างบริสุทธิ์ใจเป็นเพื่อนกันจริงๆ ไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรแอบแฝงเลย
แต่บางความสัมพันธ์ แม้ว่าจะสนิทกันอย่างกลางๆ แต่การรวมกลุ่มกันมันแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันได้ดี
กลุ่มต่างๆเหล่านี้ที่เรารู้จักนำมาซึ่งโอกาสที่ในงานได้
อาชีพล่ามคอนเน็คชั่นของคุณจะกว้างขึ้นเมื่อคุณได้งานไปหลายๆที่มากขึ้น
ไม่เฉพาะกับคนเป็นล่ามด้วยกัน
หลายๆงานเราก็ได้จากคนรู้จักที่เค้าใจดีแนะนำเราให้ เพราะเค้ามองเห็นอะไรในตัวเอง
บางทีสิ่งที่ช่วยให้เค้าแนะนำให้เรา อาจจะไม่ใช่ความเก่งเพียงอย่างเดียว
**ทริคเล็กๆอย่างนึงของผมคือ**
คุณต้องมีนามบัตร และมีความมุ่งมั่นในงาน
บางคนเค้าอยากแนะนำงานให้นะ ยิ่งถ้าตัวคุณยิ่งแสดงออกว่าต้องการงาน มันยิ่งทำให้เค้าสะดวกใจมากขึ้นที่จะแนะนำงานให้คุณ
อีกเรื่องนึง คือ กิจกรรมที่คุณทำก็เป็นตัวดึงโอกาสเข้ามาเหมือนกันนะครับ
อย่างเช่น ถ้าสัปดาห์คุณไปเล่นเกมโต้รุ่งอยู่ตลอด คุณก็จะได้โอกาสในอีกแบบนึง
ถ้าทุกสัปดาห์คุณไปเข้ากลุ่มเรียนภาษาญี่ปุ่น(เบนเคียวไค) คุณก็จะได้เพื่อนอีกแบบนึง โอกาสก็จะอีกแบบนึง
เค้าว่ากันว่า อนาคตของเราจะไปในทิศทางไหน ก็ขึ้นอยู่กับกลุ่มคนที่คุณคบหานำพาไปด้วย
เรามักจะเป็นค่าเฉลี่ยของกลุ่มคนที่เราคบหา
เม้าเพื่อนคนนึงที่อัพเงินเดือนเกินความสามารถตัวเองตลอด
ผมมีเพื่อนอยู่คนนึง ที่เค้าไม่เคยประเมินตัวเองต่ำเลย กลับกันคือประเมินตัวเองสูงมากซะด้วยครับ
คือสมมติว่า มีฝีมือ 6 คะแนน แต่เรียกเงินเดือน 8-9 คะแนนตลอดครับ
ผลเป็นยังไงรู้มั้ยครับ ส่วนเค้าก็ไปได้ดีกับงานที่เค้าได้ทำ
และเอาฐานเงินเดือนนั้นไปอัพต่อยอดเงินเดือนต่อไปของตัวเองอีก
ผมถามเค้าว่าไม่กลัวบ้างหรือที่จะทำงานไม่ได้ เพราะเงินเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
เค้าบอกว่าสุดท้ายก็แค่ออก ก็แค่โดนด่า มันไม่ได้เสียหายอะไรมากมาย เค้าทำใจรับผลลัพธ์นั้นได้
อาจจะดูเหมือนว่าโลภมากแล้วสุดท้ายก็ทำงานไม่ได้
งานแบบนั้นก็มีบ้างครับ ที่ต้องยอมออกเพราะฝีมือไม่ถึง
แต่ส่วนใหญ่นะครับ งานเงินดีที่เค้าได้ เป็นงานที่สบายไม่ได้ยากขนาดนั้นเลยครับ
สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากเพื่อนคนนี้ คือ อย่ากลัว อย่าอายที่จะรับเงินเดือนเยอะ มั่นใจตัวเองเข้าไว้
เมื่อคุณมีโปรไฟล์ในการรับงานเงินดีมา พอไปสมัครที่อื่น สิ่งนี้ก็จะเป็นจุดเด่นที่บริษัทจะสนใจในตัวคุณ
คือ แบบตกใจ เห็นเด็กอายุไม่ถึง 30 เคยรับงานเงินเดือนหลักแสนมาก่อน ก็น่าจะสนใจที่จะอยากคุยด้วย
ผมเองก็เคยมีประสบการณ์ได้งานจากเรื่องแบบนี้มาก่อนครับ เค้ารับเลยเพราะเห็นว่าเคยได้ค่าตัวในระดับที่เยอะมาก่อน เหมือนเค้าคิดว่าน่าจะคุ้มได้จ้างคนที่เคยได้รับค่าแรงแพง ในราคาที่ประหยัดขึ้น
คือถ้าเมื่อไหร่ที่ตลาดให้ราคาขึ้น คุณรับเงินตามราคาตลาดเลยไม่น่าเกลียดครับ แต่ถ้าต้องการอัพให้มากกว่าราคาตลาด อันนี้ต้องใช้ฝีมือกันหน่อย
อีกเรื่องครับ
เป็นเรื่องเกิดขึ้นไม่นานมานี้เองครับ ในไซต์งานก่อสร้างที่ผมทำงานอยู่นี้
กำลังหาเซฟตี้มาทำงาน ซึ่งหาน้องผู้หญิงคนนึงมาได้ อายุประมาณ 27 ปี
พอผมรู้เงินเดือนของน้องคนนี้แล้วผมก็ตกใจเลย
65,000 บาทครับ!!
ผมอยากรู้เลยครับ ว่าน้องเค้าจะเก่งขนาดไหน ไปทำอะไรมา เรียนที่ไหนมา ถึงได้เงินขนาดนี้
ผู้จัดการที่รับน้องเค้าเข้ามาบอกว่า น้องเคยทำงานบริษัทต่างชาติ คือก็จะได้ภาษาอังกฤษด้วย
โอ้วว้าว ดูโปรไฟล์ดี น่าจะเป็นคนเก่งมาก ขอศึกษาหน่อยแล้วกันว่าเป็นคนยังไง
พอผมได้สังเกตดูการทำงานของน้องเค้านะครับ
ปรากฏว่าตรงกันข้ามเลยครับ สกิลน้องยังขาดอีกมากมาย ประสบการณ์ก็น้อย
ภาษาที่ว่าได้ ก็ไม่ได้ คือภาษาอังกฤษไม่ได้เลยครับ ไม่ได้แบบหนักมากด้วยครับ
ความสามารถในการทำงานก็ยังไม่ค่อยดี การวางตัวเข้าสังคมก็ไม่เก่ง
แต่เชื่อมั้ยครับว่า บริษัทก็ยังยอมรับได้นะครับ ไม่ไล่เข้าออก ยอมให้ทำด้วยเงินเดือนระดับนี้ครับ
แต่สุดท้ายน้องเค้าทนไม่ไหว แพ้ภัยตัวเอง
ลาออกเองเพราะรู้สึกว่างานยาก รู้สึกอึดอัดกดดันจากการทำงาน ทำงานไม่ไหว
บวกกับพอเค้าทำงานไม่ได้ ก็เริ่มถูกวิจารย์จากคนอื่น เกิดแรงเสียดทาน
และวางตัวไม่ดีสร้างศัตรูกับคนอื่นไปทั่ว เลยแทบไม่มีที่ยืนในสังคม
สุดท้ายเป็นฝ่ายขอลาออกเอง ในขณะที่เจ้านายเค้าก็ยังอยากให้อยู่ต่อ
เรื่องนี้บอกอะไรบ้าง
สำหรับผมการที่เงินเดือนเยอะ ไม่ใช่ว่าจะถูกกดดันจากบริษัทให้ต้องทำงานให้คุ้มค่าซะเสมอไป
ถ้าเราจัดการได้ แม้ว่าจริงๆแล้วคุณสมบัติทุกอย่างของคุณจะไม่เหมาะสมเลย
แต่คุณพัฒนาตัวเองจนจัดการงานได้จริงๆ คุณก็จะได้เงินก้อนนั้นไป
เซฟตี้เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมนะครับ ที่คุณสามารถเรียกเงินได้จากความต้องการของตลาด
ข้อเสียของการรับรายได้ที่เยอะกว่าความสามารถ
มีข้อเสียอยู่หลายข้อเลยครับ การชาเลนท์ตัวเองทำสิ่งที่ยากเกินกำลัง
หลายคนอาจจะบอกว่างานมันจะเครียดถ้าเรารับงานที่โหดกว่าความสามารถที่เรามี
ความอึดอัดจากการที่ทำงานไม่ได้
เมื่อเราทำงานไม่ค่อยดี แม้ว่าจะมีคนให้กำลังใจ แต่ก็มักจะมีคนถ่มถุย
ยิ่งเมื่อเค้ารู้ตำแหน่งของเรา รู้เงินเดือนของเรา
สังคมก็เริ่มไม่เป็นมิตรกับเรา
เกิดความรู้สึกอับอาย เข้าหน้าไม่ค่อยติดกับคนอื่น
เสียความมั่นใจเพราะถูกตำหนิอยู่บ่อยๆ
แน่นอนทำงานไม่มีความสุข
เสียชื่อเสียง เสียเครดิตคนให้งาน ไม่มีคนมาจ้างซ้ำอีก
สุดท้าย ท้ายสุดถูกให้ออกจากงาน เสียประวัติ
แต่สิ่งที่เราเลือกก็ย่อมมีความเสี่ยงอยู่แล้วครับ
เราได้โอกาสที่จะเพิ่มรายได้ พร้อมกับประสบการณ์เป็นผลกำไรของการเลือกครั้งนี้
ไม่ผิดเลยว่าจะเลือกทาง คอมฟอร์ทโซนทำงานที่เรามั่นใจ หรือทำงานที่ท้าทายขึ้นมาพร้อมโอกาสเติบโต
แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกให้เป็นความหวังไว้ คือ ใช่ว่างานเงินดีจะโหดทุกงานครับ หรือเราอาจจะทำได้ดีก็ได้ หรือพอเจอหน้างานจริงแล้วสบายก็ได้
เราจะยังไม่รู้จนกว่าจะได้ลองทำมันดู ซึ่งรางวัลคือ ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มาพร้อมกับความเสี่ยง
ส่วนใหญ่ความเสี่ยงเป็นเรื่องของจิตใจ ซึ่งถ้าคุณจัดการกำลังใจตัวเองดีๆ บางทีก็ไม่มีอะไรน่ากลัวเลย
ถูกไล่ออกแล้วยังไง ประวัติมันไม่ใช่ว่าจะถูกบันทึกในประวัติสักหน่อย ไม่ได้ทำคดีอาชญกรรมอะไร
เราอาจจะชื่อเสียงเสียหาย แต่แล้วไง ถ้าวันนึงคุณเก่ง คุณก็กลับมากู้ได้
คุณสามารถรับมือกับคำวิจารย์เชิงลบได้ ไม่คิดอะไรมากกับมัน
มีวิธีการรับมือมากมายกับผลเสียในเชิงจิตใจ อยู่ที่วิธีคิดของคุณเอง
ถ้าลองวิเคราะห์กันดูนะครับ ปกติคนเราจะยอมจ่ายเงินให้กับสิ่งที่คุ้มค่า
หากคุณค่ามีน้อยกว่าราคาที่จ่ายไป
เราก็จะรู้สึกไม่คุ้มค่าและเสียดายเงิน วันหลังจะไม่มาใช้งานอีก
แต่สำหรับอาชีพแล้ว ผมมองว่าเรื่องนี้ค่อนข้างยืดหยุ่นกันไป
มีหลายที่นะครับ ที่มีหัวหน้าที่เงินเดือนแรงมาก และความสามารถไม่ได้เก่งสมราคาที่จ้างมา
และบางงานมันอาจจะไม่ได้โหดเหมือนอย่างที่คิด เงินที่ได้มาเยอะ และงานที่ได้ทำก็ไม่ได้ยาก
ผมเจอประสบการณ์มาแล้วกับตัวครับ
เคยมีงานล่ามที่จ้างราคาระดับN1 แต่จริงๆใช้แค่ล่ามระดับ N3 ก็ทำงานได้แล้วก็มีเยอะครับ
เพราะเราไม่รู้ไงครับ ว่าหน้างานจะเป็นยังไง บางทีอาจจะไม่ได้ยากก็ได้
แต่ต้องใช้ความกล้าเยอะในการกระโดดคว้าโอกาส
สำหรับเรื่องความคุ้มค่าในการจ่ายเงินของลูกค้า
ลูกค้าแต่ละที่ก็มีการประเมินที่ไม่เหมือนกัน
ส่วนใหญ่เราเข้าไปทำงานในองค์กร องค์กรมักจะยากที่จะฟันเอาใครออก
ไม่ใช่ว่าจะเอาออกได้ง่ายๆ เเพราะมีกฏหมายคุ้มครองอยู่
อย่างน้อยๆคุณก็ต้องได้ค่าชดเชยอะไรบ้าง หรืออย่างน้อยก็ต้องได้เงินตามค่าจ้างที่คุยกันไว้
เท่าที่ผมสังเกตมานะครับ แม้ว่าจะเจอคนที่ทำงานห่วยมากๆ และเงินเดือนสูง เค้าก็ไม่เอาออกได้ง่ายๆ
อาจจะเป็นเพราะบางองค์กรผู้บริหารไม่ได้มาจัดการเองโดยตรง
คนที่ดูแลก็ไม่มีอำนาจพอจะตัดสินใจได้ ได้แต่ยื่นเรื่องไป แต่ผลก็ยังไม่ออกมาในทันที
คือมองในเชิงโครงสร้างของบริษัท มีระเบียบขั้นตอนต่างๆ ที่ต้องดำเนินการ ไม่ใ่ช่องค์กรเจ้าของคนเดียวที่มีสิทธิขาด
มันมีขั้นตอนในการดำเนินการในการจะเอาใครสักคนออก
แต่แน่นอนว่ามีคนที่ถูกให้ออกอยู่เยอะ แต่เท่าที่เห็นผมว่าส่วนนั้นคือ ทำงานไม่ได้จริงๆ มีปัญหามากจริงๆ
แต่กว่าจะถูกออกก็ได้เข้ามาทำงานอยู่ประมาณนึง ไม่โหดแบบบริษัทฝรั่งที่เชิญออก คือต้องออก ณ ตอนนั้นเลย
สุดท้าย ท้ายสุดนี้ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย
ขอให้สมหวังกับการเพิ่มรายได้นะครับ